ยาเสพติด ทางด้านกฎหมาย

Last updated: 30 มิ.ย. 2558  |  10102 จำนวนผู้เข้าชม  | 

        ปัจจุบันปัญหายาเสพติดได้แผ่ขยายวงกว้างไปทั่วทุกหนแห่ง แพร่กระจายอย่างรวดเร็วราวเกิดโรคระบาด มีการคิดค้นตัวยาแปลกๆออกมาขายกันเกร่อ ก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมครอบครัว มีข่าวการจับกุม ข่าวเภทภัยของยาเสพติดให้เห็นทุกวันทางทีวี หนังสือพิมพ์ แต่เหตุใดยิ่งปราบก็ยิ่งมีมากขึ้นทวีความรุนแรงขึ้นทุกที จึงคิดว่าควรนำเสนอให้เห็นบทกำหนดโทษของกฎหมายยาเสพติดซึ่งไม่ค่อยจะมีใครนำมาเสนอให้อ่านกัน
        พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่ใช้เป็นหลักอยู่ และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้งจนกระทั่งล่าสุดจึงมี พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้เหมาะสมกับปัญหา โดยแก้ไขโทษในความผิดเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครอง มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษจำนวนเล็กน้อยให้มีโทษขั้นสูงลดลง เพื่อให้บุคคลซึ่งต้องหาว่าเสพเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ 2545 และเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษโดยให้มีการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น การให้อำนาจสั่งตรวจหรือทดสอบว่าบุคคลใดมียาเสพติดให้โทษอยู่ในร่างกายหรือไม่ ฯลฯ
        ยาเสพติดให้โทษ หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะโดยการกิน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยวิธีการใด ๆ แล้วจะทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจ รวมตลอดถึงพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติด และสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย
 

ยาเสพติดมีหลายประเภท ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะการแบ่งตามกฎหมาย เช่น
1. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เช่น แอมเฟตามีน เฮโรอีน LSD ยาอี ฯลฯ
2. พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เช่น อีเฟดรีน
3. พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533 เช่น ทินเนอร์ กาว แล็กเกอร์
 
1.พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ได้แบ่งยาเสพติดให้โทษออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงมี 38 รายการ เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน แมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เอ็กซ์ตาซี และแอลเอสดี
ประเภทที่ 2 ยาเสพติดให้โทษทั่วไป มี 102 รายการ เช่น ใบโคคา โคคาอีน โคเดอีน ยาสกัดเข้มข้นของต้นฝิ่นแห้ง เมทาโดน มอร์ฟีน ฝิ่น   ยา (ฝิ่นที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งเพื่อใช้ในทางยา) ฝิ่น (ฝิ่นดิบ ฝิ่นสุก มูลฝิ่น)
ประเภทที่ 3 ยาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยาและมียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ผสมอยู่ คือ ยารักษาโรคที่มียาเสพติด             ประเภทที่ 2 เป็นส่วนประกอบอยู่ในสูตร เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ท้องเสีย
ประเภทที่ 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ 2 มี 32 รายการ เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ อาเซติล คลอไรด์
ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 มี 4 รายการ คือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วน ของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย

2.พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518
1. ห้ามผู้ใด ผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 และ 2 นอกจากกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ขายได้โดยแพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ เฉพาะผู้ป่วยของตน หรือกระทำโดยกระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัช หรือสถานที่ที่ราชการกำหนด โทษจำคุก 5 - 20 ปี และปรับ 100,000 - 400,000 บาท
2. ห้ามผู้ใดผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 3 และ 4 เว้นแต่ได้ขออนุญาตแล้วตามกฎหมายซึ่งต้องมีเภสัชกรเป็นผู้รับผิดชอบควบคุม โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท
3. ห้ามผู้ใดเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 ห้ามผู้ใดเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 เว้นแต่สั่งโดยแพทย์, ทันตแพทย์ผู้ให้การรักษา ห้ามผู้ใดครอบครองหรือใช้ประโยชน์วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1-2 โดยมิได้รับอนุญาต โทษจำคุก 1 - 5 ปี และปรับ 20,000 - 100,000 บาท
4. ห้ามผู้ใดจูงใจ ชักนำ ยุยงส่งเสริมหรือใช้อุบายล่อลวงขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โทษจำคุก 2 - 10 ปี และปรับ 40,000 - 100,000 บาท และถ้ากระทำต่อหญิงหรือบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือจูงใจเพื่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดอาญา หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทำผิดอาญา โทษจะเพิ่มขึ้นเป็นจำคุก 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับ 60,000 - 500,000 บาท
 
3.พระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย ปี พ.ศ. 2533
1. ขายสารระเหยแก่ผู้มีอายุไม่เกิน 17 ปี (โดยไม่ใช่นำไปใช้เพื่อการศึกษา) จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. จัดหาหรือขายสารระเหยแก่ผู้ติดสารระเหย เสพสารระเหย ชักจูง หลอกลวง บังคับให้ผู้อื่นเสพสารระเหย จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้สูดดมอายุไม่เกิน 17 ปี ศาลอาจเรียกตัวพร้อมผู้ปกครองมาว่ากล่าวตักเตือน และปล่อยตัวไป แต่ถ้าเห็นว่าเป็นผู้ติดสารระเหยอาจส่งไปบำบัดรักษา ถ้าอายุเกิน 17 ปีและติดสารระเหยด้วย ศาลอาจส่งไปบำบัดรักษาเช่นกัน โดยชดเชยระยะเวลาบำบัดทดแทนค่าปรับหรือการจำคุก การบำบัดรักษาไม่ครบตามกำหนดโดยหลบหนีออกไปจากสถานบำบัด หากถูกจับได้ซ้ำจะได้รับโทษเพิ่มขึ้น
การนำเสนอบทลงโทษตามกฎหมายยาเสพติด หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ในการเตือนให้เห็นว่า การเกี่ยวข้องกับยาเสพติดนั้นมีโทษถึงประหารชีวิตทีเดียว เราจะต้องช่วยกันขจัดยาเสพติดให้สิ้นไป โดยการแจ้งเบาะแสของผู้เสพ ผู้ขาย แหล่งผลิตต่อเจ้าหน้าที่ในการที่จะดำเนินการปราบปราม ทั้งนี้ เพื่ออนาคตของบุตรหลานของเราเอง
 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้